กลิ่นตัวแรงเหงื่อเยอะ
เรื่องกลิ่นตัวเหงื่อเยอะ เป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คน ที่กำลังประสบอยู่ เพราะสภาพอากาศเมืองไทย ไม่ว่าจะฤดูอะไร อากาศก็ร้อนเหมือนกันหมด ช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง วันหยุดแทบจะไม่มีใครออกจากบ้านเพราะอากาศร้อน ออกมาที ทั้งเหงื่อ ทั้งกลิ่นตัว เต็มไปหมด ส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจ เมื่อต้องพบปะผู้คน โดยเฉพาะคนที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ ทำให้อับชื้น เกิดกลิ่นตัว โดยมากจะเกิดบริเวณรักแร้และฝ่าเท้า ทำให้ต้องคอยระวังและสำรวจตัวเองตลอดเวลา
ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
• ภาวะเหงื่อออกมากทั่วตัว
• ภาวะเหงื่อออกมากเฉพาะจุด เนื่องจากมีการทำงานมากผิดปกติของต่อมเหงื่อตามร่างกายเฉพาะจุด เช่น บริเวณรักแร้ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นต้น ซึ่งมักไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมักพบว่า มีเหงื่อออกมากตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มีเหงื่อออกใต้รักแร้จนเปียกชุ่ม หรือรู้สึกว่ามือเปียกชื้นบ่อยๆ
การรักษาภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติในที่นี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น การรักษาแบบไม่ผ่าตัด และแบบผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด มีหลายวิธี ได้แก่
• การทายาเฉพาะที่ เช่น Aluminium chloride solution เป็นต้น ข้อดี คือ ใช้ง่าย ข้อเสีย คือ ผลการรักษาไม่แน่นอน และอาจมีอาการผิวแห้งบริเวณที่ทา
• การฉีดสารสกัดโปรตีนบริสุทธิ์ หรือ ฉีดโบท็อก ในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก โดยสารสกัดโปรตีนบริสุทธิ์จะไปยับยั้งการสั่งงานของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงต่อมเหงื่อทำให้การหลั่งเหงื่อลดลง ซึ่งจะเห็นผลการรักษาชัดเจนที่ 7-14 วันหลังการฉีด และผลการรักษาจะอยู่นานประมาณ 4-6 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มมีเหงื่อบริเวณนั้น ซึ่งสามารถกลับมารักษาซ้ำได้ ถือเป็นการรักษาที่เห็นผลชัดเจน รวดเร็ว ไม่ต้องพักฟื้น ไม่มีผลกระทบต่อผิวหนังบริเวณที่รักษา มีผลข้างเคียงน้อย โดยจะมีอาการเจ็บเล็กน้อยขณะฉีดยาเท่านั้น
• การรักษาด้วยคลื่นไมโครเวฟ เป็นการใช้คลื่นไมโครเวฟทำลายต่อมเหงื่อโดยใช้เวลาในการรักษา 20-30 นาที/ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 เดือน แต่วิธีนี้อาจทำให้การรับรู้ของผิวหนังเปลี่ยนไปและรู้สึกไม่สบายผิว อีกทั้งยังเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่เป็นที่นิยม
• การรักษาด้วยไอออนโตฟอรีซีส เป็นวิธีที่ใช้กระแสไฟฟ้าพลังงานต่ำช่วยส่งผ่านน้ำหรือยาเข้าสู่ผิวหนังบริเวณต่อมเหงื่อของรักแร้ มือ หรือเท้าที่มีอาการผิดปกติโดยตรง ซึ่งส่งผลให้ต่อมเหงื่อบริเวณนั้นทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาอย่างน้อย 2-3 ครั้งจึงจะเห็นผล และอาจต้องทำซ้ำทุกเดือนเพื่อให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หญิงมีครรภ์ ผู้ที่ใส่เครื่องควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียมที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือลมชัก ไม่ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ เพราะกระแสไฟฟ้าอาจก่ออันตรายได้
การรักษาโดยการผ่าตัด เช่น
• การกำจัดต่อมเหงื่อด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ และมีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะรักแร้ อาจใช้เครื่องดูดสุญญากาศไฟฟ้าช่วยกำจัดต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้
• การผ่าตัดหรือการจี้ปมประสาท หากรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล แพทย์อาจผ่าตัดจี้ทำลายปมประสาทบริเวณรักแร้ที่กระตุ้นการหลั่งเหงื่อ หรือผ่าตัดจี้ปมประสาทไขสันหลังที่กระตุ้นการหลั่งเหงื่อบริเวณมือ แม้เป็นวิธีที่ได้ผลดีแต่มักทิ้งรอยแผลเป็นไว้และอาจทำให้ผู้ป่วยมีเหงื่อออกมากบริเวณอื่น ๆ อย่างตามหน้าอกและใบหน้าได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีเหงื่อออกมากบริเวณศีรษะและใบหน้าไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้
ภาวะแทรกซ้อนของเหงื่อออกมาก
เหงื่อออกมากอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยภาวะนี้อาจส่งผลเสียต่อจิตใจ เช่น รู้สึกอับอาย มีพฤติกรรมหลีกหนีสังคม มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แยกตัวออกมาไม่สุงสิงกับใคร เป็นต้น
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทางร่างกาย มีดังนี้
• เกิดการหมักหมมของเหงื่อไคลจนเป็นเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ แต่มักไม่รุนแรง
• ผิวหนังมีกลิ่นอับซึ่งเกิดจากเหงื่อปะปนกับสารที่เชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังสร้างขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ อวัยวะเพศ หรือเท้า
• มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคผิวหนังติดเชื้อหากผิวหนังถูกทำลาย เช่น หูดจากเชื้อไวรัส สังคังจากเชื้อราบริเวณขาหนีบ หรือติดเชื้อราที่เท้าโดยเฉพาะบริเวณนิ้วเท้า เป็นต้น
• แม้เข้ารับการรักษาจนมีอาการดีขึ้นแล้วก็อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก